วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

ไอเดียสุดเจ๋ง ชาวบ้านกลาง อ.ภูเรือ ร่วมมือทำแนวกันไฟกินได้ รอบป่าชุมชนยาว 3 ก.ม.



จากการที่สภาพอากาศที่จังหวัดเลยร้อนและแห้งแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอภูเรือ ที่มีสภาพภูมิประเทศร้อยละ 90 เป็นภูเขา พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่อยู่บนภูเขา  เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ป่าเป็นอย่างมาก  ในแต่ละปี หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า ได้สูญเสียงบประมาณในการทำแนวกันไฟ และออกประชาสัมพันธ์ปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านทราบถึงผลเสียของไฟป่า  แต่ยังมีบางพื้นที่ของอำเภอภูเรือ ที่ชาวบ้านร่วมกันคิดค้นหาวิธีป้องกันไฟป่าด้วยตนเอง  โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ


ที่บ้านกลาง  ต.ปลาบ่า  อ.ภูเรือ  จ.เลย  เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันทำแนวกันไฟด้วยแปลงผัก รอบพื้นที่แปลงปลูกป่าของชุมชน ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี

นายเชิด  สิงห์คำป้อง  ผู้ริเริ่ม “โครงการแนวกันไฟกินได้”  อดีตกำนันตำบลปลาบ่า  เล่าว่า  แนวกันไฟกินได้ เริ่มทำกันเมื่อปี 2553  หลังจากที่มีโครงการปลูกป่าของหมู่บ้าน พื้นที่ 2,000 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านจึงมาช่วยกันคิดว่าจะป้องกันไฟป่า ไม่ให้ไหม้พื้นที่ปลูกป่าได้อย่างไร จึงเห็นพ้องต้องกันว่า จะทำแปลงผักตามแนวขอบป่าซึ่งมีลำห้วยล้อมรอบอยู่แล้ว โดยจากเดิมชาวบ้านได้ปลูกผักปลอดสารพิษกันอยู่แล้ว จึงพากันย้ายแปลงผักออกมาทำเป็นแนวกันไฟไปในตัว ระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร 

ซึ่งเดิมนั้นการทำแนวกันไฟ ต้องใช้วิธีการถากถางป่าเป็นประจำทุกปี ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและแรงงานชาวบ้านเป็นอย่างมาก  การทำแปลงปลูกผักจึงเป็นการสร้างแนวกันไฟอย่างยั่งยืน  สมาชิกทั้ง 27 ครัวเรือนต้องดูแลรักษาแปลงผักของตัวเอง  ทำให้ปัญหาไฟป่าลุกลามเข้าพื้นที่ปลูกป่าของชุมชนลดลง บางปีแทบไม่มีเกิดขึ้นเลย

นายเชิดกล่าวว่า  การปลูกผักเป็นแนวกันไฟ จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นโดยชาวบ้านกลาง สิ่งที่ได้ตามมาคือ ความสามัคคี  ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผักปลอดสารพิษ  ที่สำคัญคือมีสุขภาพที่ดีจากการนำผักไปรับประทานในครัวเรือน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการประกอบอาหารได้มาก  และยังเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน  สำหรับผักที่ปลูกมีหลายชนิด เช่น กะหล่ำปลี ผักกาด  ผักคะน้า และพืชผักสวนครัว  โดยมีน้ำใช้รดผักตลอดทั้งปี ซึ่งชุมชนได้ทำฝายเก็บกักน้ำไว้บนภูเขา กลางพื้นที่ปลูกป่า และส่วนหนึ่งก็นำน้ำจากลำห้วยขึ้นมารดเลี้ยงผัก

ชุมชนอื่นๆ ที่อยากนำวิธีการนี้ไปปรับใช้  ชาวบ้านก็ยินดีให้คำปรึกษา และศึกษาดูงาน  ติดต่อได้ที่นายเชิด สิงห์คำป้อง  โทร.095-7013139.








x

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น