เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ที่หาดทรายฝั่งแม่น้ำโขง
บ้านหาดเบี้ย ต.ปากชม อ.ปากชม
จ.เลย ชาวบ้านร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยได้ร่วมกันประกอบพิธีกรรมสักการะบูชาหินและแม่น้ำโขง
เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชุมชนก่อนจะเริ่มเก็บหินและร่อนทองคำขายเป็นอาชีพเสริมในช่วงฤดูแล้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น
อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์หมู่บ้านที่เก็บหินแม่น้ำโขงขายเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
สำหรับพิธีกรรม ประกอบด้วย
การรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขงของสุภาพสตรีในชุมชน
การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแม่น้ำโขงโดยหมอพราหมณ์ประจำหมู่บ้าน และการผูกผ้าหลากสีให้แก่หิน เพื่อแสดงความเคารพสักการะบูชาแม่น้ำโขง
นางรัชนี จันทร์ปุย
ผู้ใหญ่บ้านหาดเบี้ย กล่าวว่า หมู่บ้านหาดเบี้ย เป็นหมู่บ้านเล็กๆ
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง
หาอยู่หากินกับแม่น้ำโขงมาช้านาน
และอีกฝั่งของหมู่บ้านขนาบด้วยภูเขาสูงชัน
ทำให้ชาวบ้านมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่เพียงพอ ทางราชการได้อนุโลมให้ชาวบ้านเก็บหินในแม่น้ำโขงขึ้นมาขายได้
ซึ่งกลายเป็นอาชีพเสริมเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย
ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายหินเลี้ยงดู จุนเจือครอบครัว ได้อย่างดี
นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมยามหน้าแล้งคือการร่อนทองคำในแม่น้ำโขง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน
ธรรมชาติในแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้เห็นพ้องกันว่า ควรจัดพิธีกรรมที่เป็นการสักการะบูชา
บุญคุณของแม่น้ำโขง จึงเกิดกิจกรรมวันนี้ขึ้น
นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวชุมชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรณีหินและแม่น้ำโขง และเพื่อการสร้างพิธีกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านหาดเบี้ยสำหรับการนำมาใช้ในการสร้างจิตสำนึกร่วมกัน
รวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วย
รศ.ดร.ไทยโรจน์ พวงมณี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวว่า
บ้านหาดเบี้ยเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวที่ถูกยกระดับจากอำเภอปากชมและจังหวัดเลย
และมีการเข้ามาดำเนินการพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยว OTOP
นวัตวิถี
โดยมีจุดเด่นหลักของหมู่บ้านคือการอยู่ติดกับแม่น้ำโขงและชาวบ้านส่วนหนึ่งการทำการประมง มีการร่อนทอง
และมีการเก็บหินเบี้ยขึ้นมาขายให้กับผู้ที่เดินทางผ่านไปมาระหว่างอำเภอปากชมไปจังหวัดเลย
หรือจากจังหวัดเลยไปสู่จังหวัดหนองคาย
บ้านหาดเบี้ยมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นมา เช่นกลุ่มทอผ้า
กลุ่มการแปรรูปหินและกลุ่มการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวรวมถึงทรัพยากรการท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่อย่างสวนศิลป์ริมโขง
ที่ผ่านมามีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น
การขี่จักรยานจากสวนศิลป์ริมโขงไปยังอำเภอปากชม หรือการจัดการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ต่างๆที่เข้ามาศึกษาดูงาน
รศ.ดร.ไทยโรจน์กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยจึงได้เข้ามาดำเนินโครงกพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหาดเบี้ย
โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย รศ.ดร.นัยนา
อรรจนาทร , ผศ.คชสีห์ เจริญสุข และ อ.วิระ อิสโร
โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ทั้งด้านความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยว ด้านอาหารเพื่อการท่องเที่ยว ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยว
รวมถึงการสร้างและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเพื่อการจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแวะสัมผัสประสบการณ์เชิงธรรมชาติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
ซึ่งประเด็นการแลกเปลี่ยนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการคิดต่อเพื่อกำหนดและสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนการท่องเที่ยวคือการอนุรักษ์หินที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่
และชาวบ้านเก็บมาขายอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งปัจจุบันแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนไปมาก
ชุมชนไม่สามารถที่จะกำหนดการขึ้นลงของน้ำได้เฉกเช่นแต่ก่อน
ทำให้ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตทั้งอาชีพประมงและการร่อนทอง
ดังนั้นการคิดประกอบพิธีกรรมการสักการะบูชาหินและแม่น้ำโขงจึงเป็นความสำคัญ
และสำนึกร่วมกัน เป็นสิริมงคลของชีวิตของชุมชนบ้านหาดเบี้ย
ซึ่งเชื่อว่าหินและแม่น้ำโขงมีชีวิต
โดยแม่น้ำโขงเปรียบประดุจดั่งพญานาคที่สร้างความอุดมสมบูรณ์และการมีชีวิตให้แก่สรรพสัตว์ได้อาศัยอยู่อาศัยกินมาอย่างยาวนาน
โดยชุมชนเลือกพื้นที่กลางแม่น้ำโขงในการประกอบพิธีกรรมโดยหมอพราหมณ์ในชุมชน
ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนชุมชนและการสร้างวัฒนธรรมเฉพาะที่อาจส่งผลต่อการอนุรักษ์และการมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันสมบูรณ์ที่สามารถนำมาสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่ของบ้านหาดเบี้ยได้ รศ.ดร.ไทยโรจน์กล่าว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น