วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ม็อบชาวบ้านชุมนุมหน้าศาลากลาง ต้านนายทุนระเบิดภูเขา ทำเหมืองทองคำแปลงใหม่



เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556  ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย  กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จ.เลย (คปพ.)  ประกอบด้วย กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง  และกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย  จำนวนกว่า 100 คน  เดินทางมาชุมนุม ทวงถามถึงความก้าวหน้าตามที่นายสมพงศ์  อรุณโรจน์ปัญญา  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เคยรับปากเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประมาณ 3 เดือน
ว่าจะแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพภาวะประชาชน  และทรัพยากรธรรมชาติ จ.เลย   โดยเฉพาะกรณีการขยายพื้นที่เหมืองทองของบริษัททุ่งคำจำกัด ที่ อ.วังสะพุง  ที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก  จากมลพิษทางอากาศ  และทางน้ำ  ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ  และตรวจพบสารไซยาไนด์ ตลอดจนสารโลหะหนักปะปนในเลือด  และแหล่งน้ำสาธารณะเกินค่ามาตราฐาน 
ทั้งนี้  กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำเครื่องขยายเสียงมากล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของหน่วยงานราชการว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน  ใช้อำนาจเอื้อนายทุนตลอดมา  พร้อมทั้งได้นำป้ายผ้าขาว ขนาดยาว หลายผืน ที่มีข้อความถ่ายทอดถึงความเดือดร้อนมาแสดงด้วย  ขณะเดียวกัน ยังได้แจกจ่ายแถลงการณ์แก่สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เข้ามาสังเกตการณ์ด้วย
แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า   เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จ.เลย (คปพ.)    เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีบทบาทหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง  สุขภาวะของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย   ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายละเอียดของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเลย และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพอนามัย  รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่อนายสมพงศ์  อรุณโรจน์ปัญญา  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555  ที่หน้าศาลากลางจังหวัด ต่อหน้าตัวแทนพี่น้องประชาชน จาก 7  เครือข่าย  รวมกว่า 300 คน และต่อหน้าหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ
หลังรับการยื่นหนังสือ  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้รับปากกับชาวบ้านว่า จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วม  และขอเวลาศึกษาประเด็นปัญหา และจะให้คำตอบภายใน  90 วัน  พร้อมกับบอกว่า  ยินดีให้ตัวแทนประชาชน เข้าพบปะพูดคุยได้เป็นประจำ  เพื่อให้ประเด็นทุกอย่างที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว และถูกจุด สิ่งเหล่านี้แหละที่เรียกว่า “ใช่เลย”
แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า  นับจากวันที่นายสมพงศ์รับปากกับประชาชน  จนถึงวันนี้ (19 กรกฎาคม 2556)  เวลาได้ล่วงเลยผ่านมาแล้ว  571 วัน ตัวแทนเครือข่ายฯ ยังไม่เคยได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงจากนายสมพงศ์  หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด  ในขณะที่ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกลับทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  มีผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษล้มป่วย และเสียชีวิตหลายราย นอกจากนึ้ ผู้นำชุมชน และสื่อมวลชนถูกนายทุนฟ้องร้อง  เป็นคดีความในศาลอีกหลายคดีด้วย
แกนนำชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า  กรณีของเหมือทองทุ่งคำ  การประกอบการที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตลอดมา  ในวันนี้ทางผู้ประกอบการกลับจะมาเปิดเวทีรับความคิดเห็นขออนุญาตเปิดประทานบัตรเหมืองแร่แปลงใหม่ ที่บริเวณภูเหล็ก  แหล่งต้นน้ำ แหล่งอาหาของชาวตำบลเขาหลวง  ขณะที่ปัญหาเก่ายังไม่ได้แก้ไข  อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี  8 กุมภาพันธ์  2554  ได้สั่งชะลอขั้นตอนการขอประทานบัตรแปลงใหม่เอาไว้ก่อน  จนกว่าจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  แต่ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้ประกอบการ ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว  ยังเดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปีที่แล้ว  ประชาชนที่ได้รับผลกระทบถูกปิดกั้น ไม่ให้เข้าร่วมเวที โดยผู้ประกอบการนำเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคนงานของบริษัท ตลอดจน รถบรรทุกแร่มาปิดถนนไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวทีด้วย  ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2556 นี้  ทางบริษัททุ่งคำก็จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง  กลุ่มชาวบ้านได้เตรียมพร้อมเข้าร่วมเวทีอยู่แล้ว  หากถูกขัดขวางอีก ก็จะใช้มาตรการกดดัน ฝ่าแนวด่านเข้าร่วมเวทีให้ได้   เพื่อแสดงออกตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้น  นายฐานิศร์  น้อยเพ็ง  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้เปิดห้องประชุมบนศาลากลาง ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมชี้แจงถึงปัญหาความเดือดร้อน  ซึ่งนายฐานิศร์ รับปากว่า จะส่งหนังสือทักท้วงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 18 สิงหาคม นี้  เพราะเห็นว่า ควรจะดำเนินการในพื้นที่ขอประทานบัตร  ไม่ใช่มาทำที่ศาลาประชาคม จ.เลย  และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมเวทีด้วย  ขณะเดียวกัน ปัญหาความเดือดร้อนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จะให้ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ  หากพบว่าประชาชนเจ็บป่วยจากการทำเหมืองทองคำ ก็จะดำเนินการเยียวยา รักษาต่อไป  และจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดเหมืองทันที  เพราะถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขการขอประทานบัตร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  หลังจากได้รับฟังความชี้แจงจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความพอใจเล็กน้อย  ก่อนแยกย้าย เดินทางกันกลับ.





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น