วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

"รองภานุ" ลงพื้นที่เขาหลวง รับฟังความต้องการชาวบ้านรอบเหมืองทอง




อนุกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ พื้นที่อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย ออกพบปะรับทราบข้อเสนอและความต้องการของประชาชน ๖ หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรวบรวมจัดทำแผนแก้ไขระยะยาว

เมื่อวันที่  ๗ กค.๕๗ ที่วัดศรีสว่างจอมแจ้ง  บ้านห้วยผุก  ตำบลเขาหลวง  อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย  นายภานุ แย้มศรี  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในฐานะประธานอนุกรรมการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการรวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชน  เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ พื้นที่ตำบลเขาหลวง  อำเภอวังสะพุง ได้นำคณะอนุกรรมการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ออกประชุมพบปะประชาชน จาก ๖ หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่  ประเด็นสำคัญที่ประชาชนเสนอต่อคณะอนุกรรมการ คือ มีความวิตกกังวลในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านคุณภาพน้ำ  คุณภาพดิน  สารเคมี  และสารตกค้างสะสมในแหล่งน้ำ  ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม  และกระทบต่อการประกอบอาชีพด้านการเกษตร เนื่องจากผลผลิตตกต่ำ  จึงเสนอขอให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่หยุดดำเนินการ  ให้หน่วยงานทางวิชาการตรวจวิเคราะห์สภาพแวดล้อมอย่างละเอียด  พร้อมทั้งมีการจัดทำแผนรักษา  พัฒนาคุณภาพชีวิต และเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน  การจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อม  ส่งเสริมพัฒนาอาชีพและรายได้  และการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในระยะยาว


รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  กล่าวว่า จากการที่ประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวง ๖ หมู่บ้าน  ได้ร้องเรียนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำ จำกัด  และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้สั่งการให้   พลตรีวรทัต  สุพัฒนานนท์  ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย ในฐานะผู้บังคับกองกำลังรักษาความสงบพื้นที่จังหวัดเลย พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และมีอนุกรรมการรวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชน และอนุกรรมการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งให้ฝ่ายทหาร โดยกองกำลังเฉพาะกิจเขาหลวง  ของกรมทหารราบที่ ๘  เข้าพื้นที่เพื่อรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน เพื่อร่วมพิจารณาหาแนวทางแก้ไข คลายความเดือดร้อนให้กับประชาชน  ขณะนี้คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานทุกฝ่าย ได้ลงพื้นที่เพื่อสรุปข้อมูลนำเสนอต่อ คสช.และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผน และแนวทางแก้ไขแบบถาวรและยั่งยืนต่อไป  ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน ทั้งด้านระเบียบ กฎหมาย เช่น ข้อเสนอของประชาชนให้ยกเลิกหรือปิดกิจการเหมืองแร่  ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง     

ส่วนการปฏิบัติของหน่วยงานหลายส่วนที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน  ขณะนี้ได้มีการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพน้ำผิวดิน  น้ำประปาบาดาล  แหล่งน้ำชุมชน   น้ำเพื่อการบริโภค  สภาพดิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตร  การตรวจสุขภาพประชาชน อย่างต่อเนื่องทุกระยะ  พร้อมทั้งจัดทำแผนการดูแลรักษาสุขภาพ  บริการตรวจรักษาประชาชนอย่างใกล้ชิด และแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการประกอบอาชีพด้วย   

อย่างไรก็ตาม จังหวัดได้กำชับและเน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ  ทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงข้อมูล ผลการตรวจวิเคราะห์ และสร้างความมั่นใจกับประชาชน ถึงผลการตรวจสภาพแวดล้อมตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ของหน่วยงานทั้งกรมควบคุมมลพิษ  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  และ กรมพื้นฐานเหมืองแร่ ที่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด และต่อเนื่อง  เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความหวั่นวิตกในการดำรงชีวิตประจำวัน

ขณะที่ตัวแทนของชาวบ้านได้เสนอความต้องการให้ปิดกิจการเหมืองทองและฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมโดยเร็ว.

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 กรกฎาคม 2557 เวลา 00:53

    ทราบมาว่า ทหารที่เข้าไปในพื้นที่ บางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเหมืองแร่ จริงหรือเปล่าค่ะ

    ตอบลบ