วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สกู๊ป : การจัดการขยะของ อบต.หนองหญ้าปล้อง ตำบลที่ไม่มีรถเก็บขยะ


องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าปล้อง  อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอวังสะพุง  มีเนื้อที่  84  ตารางกิโลเมตร   มี 20 หมู่บ้าน  จำนวนประชากร  16,476   คน  4,740  ครัวเรือน

จากการสำรวจพบว่า  ในพื้นที่ตำบลหนองหญ้าปล้อง มีปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ทั้งตำบลที่เกิดขึ้นจำนวน  6.6  กิโลกรัม ต่อครัวเรือน ต่อวัน  ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าปล้อง ไม่มีรถเก็บขยะและพื้นที่กำจัดขยะ  ประชาชนต้องกำจัดขยะในครัวเรือนด้วยตนเอง  ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น  การเผา  การฝังกลบ  และบางส่วนได้ลักลอบนำไปทิ้งตามที่สาธารณะ รวมทั้งพื้นที่เอกชน ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากการร้องเรียน  และก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน

จากปัญหาดังกล่าว  องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าปล้อง จึงได้ดำเนินโครงการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักในปัญหานี้ร่วมกัน  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทุนสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2559-2560  เพื่อลดปัญหาและปริมาณขยะ  ด้วยการคัดแยกขยะอินทรีย์  ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย  ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม  โดยมีบ้านโคกฝาย หมู่ 10 เป็นพื้นที่นำร่อง  มีประชาชาเข้าร่วมโครงการ 240 ครัวเรือน  รวมทั้งครู นักเรียนโรงเรียนบ้านนาดอกไม้มิตรภาพที่ 120   และ โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมโครงการ

สำหรับ การดำเนินกิจกรรมโครงการประกอบด้วย  การฝึกอบรม  การศึกษาดูงานต่างพื้นที่  การรวมกลุ่มทำการแปรรูปขยะเป็นงานฝีมือ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ  การทำปุ๋ยหมักรองรับขยะอินทรีย์  กิจรรมขยะอันตรายแลกไข่ไก่  การจัดตั้งธนาคารขยะรองรับขยะรีไซเคิล  และกิจกรรมผ้าป่าขยะรีไซเคิล  โดยดำเนินการร่วมกับวัดสะเทียนทอง

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการ  ทำให้มีปริมาณขยะในตำบลหนองหญ้าปล้องลดลงร้อยละ 8 หรือเหลือเพียง เดือนละ  198,690 กิโลกรัม   ส่วนในหมู่บ้านโคกฝาย  ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการ  ปริมาณขยะลดลงกว่าร้อยละ 67 

จากผลการดำเนินโครงการ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – เดือนธันวาคม 2559  ระยะเวลาเพียง 14 เดือน  จะเห็นได้ว่า ปริมาณขยะลดลงอย่างน่าพอใจ  ประชาชนเกิดความรัก ความสามัคคี  สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนสะอาดสดใสขึ้น  ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้  เช่น การทำปุ๋ยหมัก  และน้ำหมักชีวภาพไว้ในบำรุงพืชผัก  รวมทั้งมีรายได้จากการนำขยะรีไซเคิลไปร่วมกิจกรรมกับธนาคารขยะ   

และที่สำคัญการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนร่วมได้เริ่มฝังรากหยั่งลึกเข้าไปสู่ประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่แล้วอย่างยั่งยืน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น