วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

“เกษม สมชาย” บุรุษชาติเชื้ออาชานัย ผู้มากับมีดอีโต้ด้ามเดียว




จากในอดีตกาล ปัจจัย 4 ความจำเป็นของมนุษย์ อาหาร  ยารักษาโรค  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  มีแค่นี้ก็เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้ว  แต่ในปัจจุบันความจำเป็นของมนุษยโลกได้มีเพิ่มขึ้นอีกมากมาย  จนไปเบียดบัง แก่งแย่งเอาทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย  ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และภัยธรรมชาติตามมา

ขณะที่กระแสของสังคมโลกในยุคทุนนิยมสามานย์กำลังแข่งขัน ตะบี้ตะบันไปสู่ความมั่งคั่งให้กับตัวเองอย่างบ้าบิ่น  แต่ยังมีบางคนกลับพาตัวเองเดินหันหลัง ทวนกระแส  กลับไปสู่ “ธรรมชาติ สามัญนิยม” เพียงเพื่อขอให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการชะลอความล่มสลายของโลก  และพาตัวเองกลับไปค้นหาความสุขที่แท้จริง

อ.เกษม  สมชาย  ชายร่างผอมวัย 47 ปี   เป็นหนึ่งในคนที่เลือกทางเดินหันหลังให้เมือง ทิ้งเงินเดือนสูงๆ ทิ้งห้องแอร์ ทิ้งความสบาย  มุ่งหน้าสู่ป่า หญ้า ดิน อยู่กับธรรมชาติ  ทั้งที่มีมีดอีโต้เพียงด้ามเดียว ทั้งๆที่รู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างความล้มเหลวกับความรุ่งโรจน์เบาบางดุจใยแมงมุมทารก

อ.เกษม  เกิดที่ จ.เชียงใหม่ มีพ่อเป็นทหารย้ายไปเรื่อย ๆ และเป็นผู้ใหญ่บ้าน เคยเลี้ยงม้าที่ จ.ลำปาง และขายม้าจนหมด  เมื่อพ่อ-แม่  เสียชีวิต หลังจากนั้นก็เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ไปเป็นบุตรบุญธรรมของนายชำนาญ พงษ์เจริญ  ที่ จ.สมุทรปราการ  ได้เติบโตและเล่าเรียนจนจบปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา จากมหาวิทยาลัยศรีนครรินทร์วิโรฒ ประสานมิตร  หลังจากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์สอนพละที่มหาวิทยาลัยเซาท์อีสเอเชีย พร้อมเป็นผู้ฝึกสอนเทนนิส    หลังจากนั้นได้ลาออกมาเป็นผู้จัดการฝ่ายเทคนิคของบริษัทเอกชนด้านการเกษตร สะสมเก็บข้อมูลและความรู้ด้านการเกษตรเรื่อยมา 

“ผมเข้ามาอยู่ที่สวนนี้ประมาณปี 2544  มีแค่มีดอีโต้ด้ามเดียว  ถางป่า สร้างบ้าน ก็ใช้มีดอันนี้  ตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้  แต่เราก็ต้องสู้ต่อ เพราะได้ตั้งใจไว้แล้วว่าจะมาใช้ชีวิตทำการเกษตรอินทรีย์ที่นี่  แรกๆ ก็มีคนดูถูกว่าเป็นคนบ้า  เรียนจบสูงเสียเปล่ามาทำขุดดินเอง การขุดดินไม่ต้องเรียนก็ได้ ว่ากันไปต่างๆนานา  แต่ผมไม่สนใจ ”  อ.เกษมกล่าว  

อ.เกษม  สมชาย  ปัจจุบันเป็นเจ้าของไร่นาสวนผสมที่หมู่บ้านผาสามยอด ต.ผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย  โดยภายในพื้นที่ 28 ไร่  ได้ปลูกพุทรา  ข้าวไร่ ลำไย  และพืชผักต่างๆ นอกจากนี้ จุดเด่นของไร่ อ.เกษมก็คือ การเลี้ยงม้าพันธุ์ไทยกว่า 30 ตัว  โดยทำเกษตรแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์  พึ่งพาตนเอง ไม่มีเครื่องสูบน้ำ ใช้ระบบตะบันน้ำแทน  และไม่มีรถตัดหญ้า ใช้ม้ากินหญ้าแทน ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น   ปัจจุบันสวนเกษตร อ.เกษมเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรผู้สนใจด้วย  นอกจากนี้ยังเป็นอาสาสมัคร “ปลดแอกความทุกข์ยาก”  ไทย-สปป.ลาว  โดยเป็นที่ปรึกษาบริษัท สิ่งแวดล้อม กำแพงนครเวียงจันทน์ ที่มีรัฐบาล สปป.ลาวดูแลอีกด้วย

อดีตผู้ฝึกสอนกีฬาเทนนิสเล่าว่า  เหตุที่มาทำการเกษตรที่ผานกเค้า เนื่องจากพ่อบุญธรรม หรือคุณตาชำนาญมีที่ดินแห่งนี้จำนวน 28 ไร่  ก็ได้ลาออกจากงานประจำมาทำอาชีพเกษตรกร และมาฝึกกีฬาให้เยาวชนในท้องถิ่น ปลูกผักส่งเรม่อน ฟาร์ม ในปั๊มน้ำมันบางจาก เขารับเฉพาะผลผลิตปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตรงกับใจของตนว่าต้องการผลิตสิ่งที่เป็นเกษตรอินทรีย์ 100 % เท่านั้น  หากเราใช้ปุ๋ยยูเรียหรือปนเปื้อนสารเคมีสารพิษก็จะถูกหัก 30% ทันทีของพืชนั้น 

อ.เกษมกล่าวว่า  ภายในสวนเกษตร ได้ปลูกไม้ผลที่ทำให้เลี้ยงชีพก็คือ พุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ ปลูกไว้ 120 ต้น มีน้ำหนักดี ผลโต 5-6 ผลต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 80 บาท  รสชาติดี กรอบ ส่งขายตลาดที่บ้านสานฝัน กรุงเทพฯด้วยและส่งต่อต่างประเทศ  รวมทั้งนาข้าวพันธุ์ลืมผัว  บ่อปลา  กล้วยน้ำว้า  พืชผัก สวนครัวทุกชนิดโดยเฉพาะตะไคร้ตัดเอาส่วนหัวแล้วนำมาล้างทำความสะอาดส่งเข้าห้างสรรพสินค้ากิโลกรัมละ 70 บาท 

นอกจากนี้ยังเลี้ยงม้าด้วย  ซึ่งในช่วงแรกๆ เลี้ยงม้าเทศแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงหันมาเลี้ยงม้าไทย เพราะสำนึกความเป็นไทย ในอดีต ม้าไทยมีส่วนร่วมในการกอบกู้บ้านเมือง  มีความทนทาน แข็งแรงขึ้นภูเขา ที่สูง-ต่ำ ได้ดีกว่าม้าเทศ ซึ่งปัจจุบันรูปปั้น ภาพต่างๆ ในหนังสือม้าไทยเกือบไม่มีให้เห็น  ม้าพันธ์ไทยที่เลี้ยงง่าย กินหญ้าภายในศูนย์ กินฝักและซังข้าวโพดรวมทั้งรำข้าว  จำนวน 30 ตัว  เลี้ยงไว้ดูเล่น ใช้ลาก จูง  และเพื่อบริการนักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไปที่เข้าชมศูนย์     บริการขี่หลังเพื่อการท่องเที่ยวตามตลาดและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  ภายในแปลงเกษตรก็ใช้ม้าแทนเครื่องตัดหญ้า หากยาวเกินไปก็ใช้มีดตัด ถางออก  ใช้ระบบตะบันน้ำ โดยการดึงน้ำขึ้นจากลำห้วยขึ้นไปเลี้ยงพื้นที่การเกษตร   ภายในไร่ได้ปลูกพืชอาหาร มีสัตว์ปีกไว้บริโภค ครบทั้ง 5 หมู่  ปุ๋ยที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพ มูลสัตว์ ศัตรูพืชหากพบก็ใช้ดีดีที ที่มีความสมดุลกับธรรมชาติ

อ.เกษม กล่าวต่อไปว่า  ในปี 2558 เปิดเสรีอาเซียนก็จะเปิดเป็นรถม้าบริการนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ  เปิดเป็นศูนย์ขี่ม้าและฝึกม้าให้แก่เด็กและผู้สนใจ  พร้อมทั้งกิจกรรมล่องแก่งแม่น้ำพอง ปีนหน้าผา ท่องเที่ยวน้ำตก  โดยจะมีคำว่า “ธุรกิจ” เข้ามาเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด

อ.เกษม กล่าวว่า  เกษตรอินทรีย์มีเฉพาะคนจนกับคนรวยเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับประทาน  คนจนปลูกเองกินเอง จากนั้นส่งตลาดส่งเข้าห้าง ราคาสูงก็กลายเป็นอาหารของคนรวย    ปัจจุบันมีเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปเข้ามาดูงานในไร่ ว่าจะทำอย่างไรในการลดต้นทุนการผลิต  ทำอย่างไรจะปลอดสารพิษแต่ผลผลิตสูงมีคุณภาพ ตลาดต้องการ  ทุกวันนี้ตนทำงานคิดว่าเป็นการพักผ่อนกับธรรมชาติ และไม่เคยท้อแท้เพราะมีความมุ่งมั่นสูงที่จะทำให้เป็นแบบอย่าง 

สำหรับรางวัลจากผลงานความตั้งใจทำเพื่อสาธารณะและสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา  ของอ.เกษม สมชาย ได้แก่ ปราชญ์แผ่นดิน และรางวัลโลกสีเขียว  ถือว่าได้ว่า อ.เกษม  สมชาย  เป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นนักการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งพัฒนาส่งเสริมด้านการศึกษาการเกษตร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น