วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

‘ภูเตาโปง’ด่านซ้าย ชนะเลิศป่าชุมชนอีสาน



ตามที่กรมป่าไม้ ได้จัดการประกวดป่าชุมชน ตามโครงการ“คนรักษ์ป่า  ป่ารักชุมชน” ประจำปี 2559  ผลปรากฏว่าป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม ต.นาหอ อ.ด่านซ้าย จ.เลย  ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้เป็นตัวแทนภูมิภาคเข้าประกวดในระดับประเทศต่อไป

ภูเตาโปง  เป็นภูเขาลูกหนึ่งของป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม  ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลนาหอ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  มีจำนวน 2  แปลง  แปลงที่ 1 มีเนื้อที่ 3,533-2-40  แปลงที่ 2  มีพื้นที่ 571-2-32  รวมพื้นที่ 4,105-0-72 ไร่ ประเภทที่ดินเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ และเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484  มีอาณาเขตติดต่อคือ ทิศเหนือติดกับบ้านนาน้ำท่วม ทิศตะวันออกติดกับบ้านห้วยตาด  ทิศใต้ติดกับบ้านนาเวียง และทิศตะวันตก ติดกับเขตชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม ได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม รหัสป่าชุมชนที่ 4205100101  ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่  25 สิงหาคม 2558   ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2568  

ถือเป็นความสำเร็จของทีมจิตอาสาป่าชุมชน แต่กว่าที่ทีมจิตอาสาจะต่อสู้ได้สำเร็จจนกลายเป็นโมเดลสำหรับการก่อตั้งป่าชุมชนของพื้นที่อื่นๆ ได้นั้น ได้ผ่านกระบวนการการต่อสู้และการสร้างเครือข่ายมาอย่างน่าสนใจ


ย้อนหลังกลับไปก่อน พ.ศ.2528   ราว 40 ปีมาแล้ว บรรพบุรุษชาวบ้านบุ่งกุ่มได้ขึ้นไปทำไร่ข้าว ข้าวโพด และเลี้ยงวัวบนภูเตาโปง  (ซึ่งมีสภาพเป็นป่าสาธารณะตาม พ.ร.บ.2484) มีวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม คือไม่ใช้เครื่องจักร ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน จะทำการแผ้วถางพื้นที่ไปเรื่อย ๆ ไม่ทำที่เดิมปล่อยให้รกตามธรรมชาติ แล้ววนกลับมาทำที่อีกสามปีต่อครั้ง การทำเช่นนี้ถือเป็นภูมิปัญญาการฟื้นฟูดินและทำให้ข้าวงามมาก  สภาพป่ายังมีความสมบูรณ์ มีไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้พยุง ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ ไม้เปือย ไม้แดง  มีแหล่งน้ำดื่มและอาหารอยู่ตามซำต่างๆ คนไปทำไร่ได้อาศัยดื่มกิน มีสัตว์น้ำ และผักมากมายหลายชนิด  รวมถึงสัตว์ป่า เช่น ซอกสอย อีเห็น หมูป่า ฟาน แม้กระทั่งเสือ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าตามซำมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาศัยอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวบ้าน แม้ว่ายุคนี้มีการเข้ามาสัมปทานป่าของบริษัทโป่งชีแล้วก็ตาม

แต่การรุกคืบเข้ามาของ “ทุนนิยม” ทำให้ชาวบ้านเริ่มทะยอยขายที่ทำกินบนพื้นที่รอบๆป่าภูเตาโปง ทำให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่เข้ามาในเขตป่าชุมชน ส่งผลให้น้ำในซำต่างๆ เหือดแห้ง ในฤดูฝนมีการชะล้างและพังทลายของหน้าดิน และไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ลงสู่ซำอีเลิศ  ซำตอง ห้วยกลอง ห้วยยางบง ไหลสู่ลำน้ำหมัน มีโคลนและตะกอนดินไหลลงมาจำนวนมาก และการเข้ามาบุกรุกดังกล่าวยังส่งผลต่อแหล่งอาหารได้แก่ ผักหวาน อีลอก เห็ดต่างๆ กบหอน  และยาสมุนไพรพื้นบ้านที่ชุมชนได้พึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

การเข้าบุกรุกป่าของคนต่างถิ่นยังคงดำเนินต่อไป จนทำให้มีกลุ่มคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันเพื่ออนนุรักษ์ป่าภูเตาโปงขึ้น ภายใต้ชื่อ  “กลุ่มจิตอาสาป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม” ได้เดินหน้าเชิงรุก ทั้งการรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้าน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาครัฐเป็นอย่างดี  นอกจากนี้การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย การทำนิตยสารของด่านซ้าย สร้างกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น กิจกรรมบวชป่าเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่จะอนุรักษ์ป่าชุมชน  กิจกรรมขุดลอกและเลี้ยงผีเจ้าที่ซำอีเลิศเพื่อฟื้นฟูซำตามความเชื่อดั้งเดิม  การจัดทำสำนักงานป่าชุมชน   การใช้สื่อวิทยุในท้องถิ่น  การดึงนักวิชาการท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเข้ามาทำการวิจัย  การโพสต์ภาพความสวยงามของภูเตาโปงเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาพื้นที่ เป็นการเปิดพื้นที่ภูเตาโปงให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการต่อสู้ ทำให้เกิดเครือข่ายอนุรักษ์ป่าภูเตาโปงขึ้นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

 
อย่างไรก็ตาม ได้เกิดปัญหาการข่มขู่คุกคามแกนนำกลุ่มจิตอาสาฯ จากผู้เสียผลประโยชน์จากการประกาศเขตป่าชุมชน  แต่สมาชิกกลุ่มจิตอาสาฯยังคงยืนหยัดต่อสู้อย่างเข้มแข็งเรื่อยมาก จนกระทั่งอธิบดีกรมป่าไม้ได้ทราบเรื่อง และได้ประกาศให้ภูเตาโปงเป็นเขตป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่มอย่างเป็็นทาง การ
กลุ่มจิตอาสาป่าชุมชนบุ่งกุ่มนับเป็นต้นแบบการรวมกลุ่มของประชาชนที่เข้มแข็ง ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ  เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไว้เป็นที่พึ่งพิง เป็นแหล่งอาหารและใช้ประโยชน์ไปจนชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นความภูมิใจของชาวจังหวัดเลยด้วย  ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย มีต้นทุนเดิมที่ธรรมชาติจัดสรรไว้ให้ โดยไม่ต้องไปเติมแต่ง ลงทุนอะไรเพิ่มอีก  ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรมาสนับสนุน ส่งเสริมให้ป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่มมีความเข้มแข็งยิ่งๆขึ้นไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น