วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“สวนป่าห้วยศอก” อ.ด่านซ้าย จ.เลย ตัวอย่างที่ดีของการจัดการป่าไม้โดยเอกชน


นับตั้งแต่ คสช.เข้ามายึดอำนาจบริหารประเทศ  นำโดย พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นก็คือการทวงคืนผืนป่า โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มนายทุนผู้มีอันจะกิน ที่เข้าไปครอบครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์  ซึ่งจังหวัดเลยเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการยึดคืนผืนป่าไปแล้วกว่า 20,000 ไร่   โดยส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา  และยังมีพื้นที่ถูกจับกุมดำเนินคดีที่เป็นรูปแบบสวนป่าด้วย

จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว  พบว่าที่ดินประเภทสวนป่า ส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอภูเรือและด่านซ้าย  มีประวัติความเป็นมาและจุดประสงค์การตั้งสวนป่าที่คล้ายกันคือ  ผู้ถือครองเป็นบุคคลฐานะค่อนข้างดีอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ  ออกมาซื้อที่ดินที่เป็นไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลังเดิมของชาวบ้าน  แล้วปลูกต้นไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด  เพื่อสร้างป่าไว้หลีกหนีความวุ่นวายในเมือง
 
"สวนป่าห้วยศอก" บ้านห้วยตาด  ต.โคกงาม  อ.ด่านซ้าย  เป็นสวนป่าอีกหนึ่งแห่งที่พลิกฟื้นไร่ข้าวโพดและภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นป่าอุดมสมบูรณ์  มีพืชพันธุ์ไม้หลากหลายขึ้นเต็มพื้นที่กว่า 170 ไร่  เป็นแหล่งอาหารใช้ชาวบ้านได้พึ่งพิง เก็บเห็ด หาหน่อไม้ ยาสมุนไพรได้ทั้งปี  ซึ่งถือว่าเป็นป่าชุมชนไปโดยปริยาย



นายสุรศักดิ์  ศรีนาม   ผู้ดูแลสวนป่าห้วยศอก  เล่าว่า  เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เป็นไร่ข้าวโพด มีแต่ความแห้งแล้ง  เป็นดินแดงลูกรัง เมื่อปี 2533  คุณอรรถ  เสนาสาร  (ชื่อเดิมมิสเตอร์อัลเฟรดเอเดรียน  เซนเฮาเซอร์)  ซึ่งเป็นชาวสวิสเซอร์แลนด์  ปัจจุบันอายุ 83 ปี  (ได้รับสัญชาติไทยเมื่อพ.ศ.2522) ได้ซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านที่มี นส.3 อยู่แล้ว  และมีชาวบ้านเจ้าของไร่ข้าวโพดข้างเคียงขอให้คุณอรรถซื้อที่ดินเพิ่ม  จนในที่สุดถึงปัจจุบันขยายเนื้อที่สวนป่าห้วยศอกออกไปรวม  179 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา   แรกเริ่มก็ตั้งใจแค่จะปลูกต้นสัก ปลูกไม้ผล  ไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม  พร้อมสร้างบ้านพักไว้ด้วย 1 หลัง  และมีการขึ้นทะเบียนจัดตั้งสวนป่ากับสำนักงานป่าไม้จังหวัดเลย(ในขณะนั้น) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย


นส.3 ก 


หนังสือจดทะเบียนสวนป่า
    
การตั้งสวนป่าไม่ได้หวังว่าจะทำธุรกิจจากที่ดินตรงนี้  แต่เนื่องจากพื้นที่กว้างขวาง  ประกอบกับคุณอรรถก็อายุมากแล้ว จึงไม่มีเวลามาดูแล  กำลังคนงานก็มีไม่เพียงพอ สวนป่าสักจึงกลายเป็นป่ารกมาก อยู่ๆมาก็กลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น  มีชาวบ้านเข้ามาเก็บหาเห็ดหาหน่อไม้ และของป่าอื่นๆ  คุณอรรถ เมื่อเห็นดังนี้ก็เปลี่ยนความตั้งใจ ให้ป่าตรงนี้คงไว้  แต่บางครั้งจำเป็นต้องตัดต้นไม้ในบางส่วนออก เพื่อเป็นการตกแต่ง ตัดสางไม่ให้แน่นหนาจนเกินไป เพราะจะทำให้ต้นสักเจริญเติบโตช้า  ซึ่งการตัดไม้แต่ละครั้งได้ทำเรื่องขออนุญาตจากทางราชการอย่างถูกต้อง  และบางครั้งต้นไม้ที่อยู่ริมถนนล้มพาดสายไฟ ก็ต้องตัดออก ส่วนไม้ที่ได้ ก็นำไปบริจาคให้แก่วัดหรือโรงเรียน หรือชาวบ้านมาขอไปซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน


ในอดีต ช่วงเริ่มเข้ามาปลูกป่า เป็นไร่ข้าวโพดและเขาหัวโล้น
อย่างไรก็ตาม  จากการที่สวนป่าห้วยศอกมีพื้นที่กว้างใหญ่ ปัญหาการขัดแย้งหรือกระทบกระทั่งกับพื้นที่ข้างเคียงก็มีบ้างเป็นเรื่องปกติ  จนบางครั้งก็ถูกร้องเรียน มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการตัดต้นไม้  และการก่อสร้างฝายกั้นทางน้ำห้วยศอก  ซึ่งตนได้ชี้แจงกับหน่วยงานราชการที่เข้ามาตวรจสอบแล้ว การก่อสร้างฝายดังกล่าวนั้น เป็นเพียงคันกั้นน้ำ เพื่อทำเป็นถนนคอนกรีตข้ามไปยังบ้านพัก  ใต้คันกั้นน้ำมีท่อให้น้ำไหลผ่านได้ตามปกติคล้ายสะพาน  และคันกั้นน้ำไม่ได้สูงมาก ในฤดูน้ำหลาก น้ำก็ล้นไหลไปได้

นอกจากนี้ ยังเคยมีกรณีร้องเรียนเรื่องการครอบครองเนื้อทราย สัตว์ป่าสงวน  ซึ่งสัตว์เหล่านี้ ตนเริ่มต้นจากการนำมาเลี้ยงในป่า เพียงไม่กี่ตัว หลังจากที่ได้ไปเห็นสวนป่าในประเทศอังกฤษ ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำการค้าแต่อย่างใด  แต่ด้วยความไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย เมื่อเนื้อทรายขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น จนเลี้ยงดูไม่ไหว ตนจึงทำหนังสือไปที่หน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องนี้ ให้มารับเนื้อทรายไปเลี้ยงแล้ว  นายสุรศักดิ์กล่าว.

ทั้งนี้  จากการเข้าตรวจสอบพื้นที่ของผู้สื่อข่าวพบว่า ภายในสวนป่าแห่งนี้ ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เขียวครึ้มร่มรื่น พบชาวบ้านเข้ามาเก็บหาของป่า เช่น ด้วงไม้ไผ่  เห็ด หน่อยไม้ และพืชผัก  ซึ่งทางผู้ดูแลสวนป่าก็ไม่ได้หวงห้ามแต่อย่างใด

สวนป่าห้วยศอกจึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดการป่าไม้โดยเอกชนที่ทำได้อย่างดี อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างปกติสุข  การบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ กับสวนป่าลักษณะนี้จึงต้องอาศัยแนวทางรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ มองที่เจตนารมณ์ของเจ้าของสวนป่า และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชุมชน และสภาพแวดล้อมที่ฟื้นฟูขึ้นมา จากภูเขาหัวโล้น กลายเป็นป่าที่ช่วยให้ลำน้ำห้วยศอกไม่เหือดแห้ง และเป็นที่ชะลอความแรงของน้ำไม่ให้ไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำหมัน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ด้านล่าง  

จึงควรนำพื้นที่เหล่านี้เป็นกรณีศึกษา ใช้ประโยชน์ร่วมกับทางราชการได้ไม่มากก็น้อย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น