วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เตรียมยกภูหมีภูขี้นาคให้ชุมชนดูแลหลังคดีซีพีเคจบ - สภาพรังเย็นรีสอร์ทหลังปิดมา 2 ปี (ชมคลิป)



เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563  ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย  กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเลย ประกอบด้วย กลุ่มคนรักษ์เมืองเลย  , อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.เลย  และกลุ่มทางสายใหม่  จำนวนกว่า 50 คน  นำโดยนายทศพล  พรมเกตุ  นายจีระศักดิ์  น้อยก่ำ นายยลชาญ  กมลรัตน์  และนายแสงจันทร์  ศรีพลเมือง เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด โดยนายสงวน ชินระนาท ผู้รับมอบอํานาจ ที่ได้ยื่นเรื่องขอสัมปทานตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน



โดยตั้งอยู่บริเวณ บ้านร่องจิก หมู่ที่ 2 , บ้านขามป้อม หมู่ที่ 4 ตําบลร่องจิก อําเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตําบลโคกงาม, บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตําบลโพนสูง อําเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นที่ดินของรัฐประเภท ที่เขา ภูเขา (ภูหมี,ภูขึ้นาค)  รวมเนื้อที่ 6,543 ไร่  ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของรังเย็น รีสอร์ท และ ภูเรือวโนทยานของ บริษัท ซี พี เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือของ ตระกูลกรรณสูต  โดยกรมป่าไม้และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตรวจยึดเนื่องจากออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ เมื่อปี 2561 มาแล้ว  ซึ่งมีกำหนดให้ยื่นคัดค้านภายใน 30 วัน  มีนายธานินทร์  ละโรงสูงเนิน  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย  รับหนังสือคัดค้านด้วยตนเอง




นายทศพล พรมเกตุ กล่าวว่า กลุ่มรักษ์เมืองเลย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเปิดประเด็น การบุกรุก ครอบครอง ที่ดิน ป่าไม้ แปลงดังกล่าว ของ บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ต่อสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 2535 จวบจนกระทั่งมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน นส.3ก จํานวน 147 แปลง ในปี 2546 - 2547 และ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มรักษ์เมืองเลย ก็ได้เคลื่อนไหวเปิดประเด็นนี้ต่อสาธารณชน เพื่อผลักดัน หน่วยงานของรัฐให้ทําการตรวจยึด ดําเนินคดีบุกรุกป่าแก่ บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ซึ่งก็มีการ ตรวจยึดพื้นที่ และแจ้งความดําเนินคดีบุกรุกป่า บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด โดยหน่วยป้องกันและ พัฒนาป่าไม้ภูเรือ ในวันที่ 11 เมษายน 2561 ในเวลาต่อมา




นายทศพลกล่าวอีกว่า การดําเนินการตลอดระยะเวลา 28 ปี ของกลุ่มรักษ์เมืองเลย มีเจตนารมณ์สําคัญที่จะอนุรักษ์รักษา ไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นสาธารณสมบัติของชาติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม การขอสัมปทานใช้ ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวของ บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคล หรือคณะบุคคล อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์สําคัญดังกล่าวและประการสําคัญ กลุ่มรักษ์เมืองเลย มีความเห็น ว่าโดยพฤติกรรมของ บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ผู้ขอสัมปทานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นพฤติกรรมของผู้บุกรุกครอบครองป่าไม้อันเป็นสาธารณสมบัติของชาติ มีพฤติกรรมอันเป็นการกระทําความผิดละเมิดกฎหมายแห่งรัฐ ซึ่งน่าจะไม่ใช่ผู้มีความประพฤติดี อันเป็นคุณสมบัติสําคัญของผู้ขอสัมปทาน ตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดิน

นายธานินทร์  ละโรงสูงเนิน  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย  จะนำข้อคัดค้านของประชาชนไปพิจารณาประกอบการตรวจสอบที่ดินไปเสนอทางจังหวัดตามขั้นตอนของกฏหมาย  หากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ก็คงไม่ฝืนความรู้สึก  ส่วนกรณีที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ในกระบวนสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่นั้น ก็จะนำเสนอเป็นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของทางจังหวัดด้วย ซึ่งการยื่นสัมปทานครั้งนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย  จึงไม่สามารถปฏิเสธได้



ต่อมา ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พ.อ.สมหมาย  บุษบา  รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.เลย (กอ.รมน.เลย)  พร้อมด้วยนายธวัชชัย ลัดกรูด  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี)  นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่รังเย็นรีสอร์ทและภูเรือวโนทยาน  ซึ่งสภาพปัจจุบันชำรุดทรุดโทรม ไม่มีการประกอบกิจการโรงแรมแล้ว แต่มีคนงานยังเฝ้าดูแลอยู่  ขณะที่สวนแมคคาเดเมียยังคงมีการบำรุง ดูแลรักษาอย่างดี  มีคนงานคอยเก็บผลผลิตอยู่เช่นเดิม ส่วนบ้านชัยชนะบนยอดภูหมี ภูขี้นาค ปิดประตูคล้องโซ่ล็อคกุญแจอย่างแน่นหนา

พ.อ.สมหมายกล่าวว่า ต้องตรวจสอบว่า เหตุใดผู้ครอบครองที่ดินเดิมจึงกลับมายื่นขอสัมปทานได้ ทั้งๆที่คดียังอยู่ในชั้นการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ  มีความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้ารัฐบางหน่วยงาน ที่พยามช่วยเหลือนายทุน ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ  ภูเขาบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่กว่า 20,000 ไร่ เหตุใดจึงไม่ประกาศเป็นป่าสงวนตั้งแต่แรก  ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเห็นว่ามีการครอบครอง ทำประโยชน์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงถามว่า นายทุนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ในฐานะอะไร  หากการยื่นคัดค้านครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ อยากให้มีการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนผู้ยากไร้ อาจจะจัดตั้งในรูปแบบของสหกรณ์เข้ามาทำกินกับพืชผลการเกษตรในพื้นที่นี้ได้ ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ด้วย



ด้านนายธวัชชัย  ลัดกรูด  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี)  ขณะนี้พื้นที่ภูหมีภูขี้นาค มีฐานะเป็นป่าของรัฐตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484  หลังจากที่ทำการตรวจยึด เพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้วเมื่อปี 2561 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนโดยดีเอสไอ  ซึ่งกรมป่าไม้ได้ยื่นฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายประมาณ 130 ล้านบาทด้วย  หากใครจะเข้ามาทำกิจการหรือทำประโยชน์ใดๆ ต้องขออนุญาตพนักงานสอบสวน แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ต้องขออนุญาตด้วย เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด  พื้นที่แห่งนี้ เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุด ให้พื้นที่ตรงนี้ตกเป็นของแผ่นดิน  กรมป่าไม้ก็จะเข้ามาจัดการได้  และจะมอบให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาจัดตั้งเป็นป่าชุมชนทันที  ตามที่อธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งการ นายธวัชชัยกล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น