วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อพท.เดินหน้าพัฒนานักสื่อความหมายชุมชน


องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ดร.แก้วตา ม่วงเกษม จัดกิจกรรมพัฒนานักสื่อความหมายชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ เพื่อสร้างมาตรฐานการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

นายธรรมนูญ ภาครูป ผู้จัดการพื้นที่พิเศษ 5 กล่าวว่า  ขอบคุณทางสำนักงานท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) ที่คำนึงถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนและเห็นว่าทางชุมชนพื้นที่ภูหลวงมีความเข้มแข็ง ซึ่งในชุมชนนี้มีคนถึง 5 ระดับรุ่นด้วยกันคือ รุ่น ทวด ปู่ย่า พ่อแม่ ลูกหลาน เหลน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่าทางชุมชนภูหลวงมีศักยภาพและความเชื่อมโยงของระหว่างรุ่น และชุมชนนี้นั้นมีเรื่องเล่ามากมาย เรื่องของป่าเขา การได้อยู่กับธรรมชาติ มีวัฒนธรรม มีวิสาหกรรมชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ในโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ 4 ออม ของชุมชนนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย “ออมเงิน ออมบ้าน ออมเด็ก ออมเวลา” ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก




 โครงการพัฒนานักสื่อความหมายชุมชนนี้ เป็นการนำร่างหลักสูตรพัฒนานักสื่อความหมายชุมชนมาใช้ในพื้นที่พิเศษที่ทาง อพท. ได้คัดสรรไว้ โดยจะนำไปทดลองใช้จริงใน 6 พื้นที่พิเศษ คือ 1. ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี 2. ชุมชนม่วงตึ๊ด จ.น่าน 3. ชุมชนภูหลวง จ.เลย 4. ชุมชนหนองอ้อ จ.สุโขทัย 5. ชุมชนคลองใหญ่ จ.ตราด และ 6. ชุมชนดงเย็น จ.สุพรรณบุรี

หลักสูตรนี้เป็นแนวคิดของ อพท. ที่จะพัฒนานักสื่อความหมายในแหล่งท่องเที่ยวให้มีพื้นฐานที่ดี ส่งผลต่อการต้อนรับผู้มาเยือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการเล่าเรื่องและเส้นทางสื่อความหมายในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างนักสื่อความหมายรุ่นใหม่ ที่สามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านนักสื่อความหมายในพื้นที่และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านกระบวนการเสริมสร้างประสบการณ์ประทับใจ (WOW) ให้แก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นรูปแบบกิจกรรมทดลองทำสลับกับการบรรยายในหัวข้อต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น การจัดการอารมณ์ การอ่านภาษากายเบื้องต้น การเข้าถึงพฤติกรรมกลุ่มนักท่องเที่ยว การทำงานเป็นทีม เป็นต้น รวมทั้งลงพื้นที่ปฏิบัติจริงพร้อมการประเมินทักษะโดยเจ้าหน้าที่ อพท. และทีมนักวิจัย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรในชุมชนต่อไป.









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น