วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

น้ำโขงแห้ง ปรากฏการณ์(ไม่) ธรรมชาติ




ปกติแล้วในช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคมเช่นนี้ แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จ.เลย จะมีระดับน้ำสูงเฉลี่ย 8-13 เมตร  แต่ในช่วงวันที่ 16 กรกรฎาคม เป็นต้นมา ระดับน้ำกลับลดลง ทำให้สันดอนทราย เกาะแก่งโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ทั้งๆที่ช่วงนี้เป็นฤดูฝน  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเขื่อนไชยะบุรี สปป.ลาว  ที่อยู่ห่างจากเชียงคานขึ้นไปทางเหนือประมาณ 200 กิโลเมตร กำลังปิดประตูระบายน้ำเพื่อทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า  โดยทางการลาวได้แจ้งว่า ช่วงนี้ระดับน้ำจะผันผวน ขึ้นๆลงๆ
  
อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำได้กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง  ศูนย์สำรวจอุทกวิทยาที่ 8 (เชียงคาน) วัดระดับน้ำได้เมื่อช่วงเช้าวันนี้อยู่ที่ 3.69 เมตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร  โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ระดับน้ำอยู่ที่ 8-13 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำตามปกติของฤดูฝน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า เป็นปีแรกที่แม่น้ำโขงลดลงมากขนาดนี้ ส่งผลให้เรือที่ออกไปวัดระดับน้ำกลางแม่น้ำโขงต้องติดสันดอนทรายด้วย



ผลกระทบจากเหตุดังกล่าว  ทำให้เรือและแพชาวประมงติดค้างเป็นจำนวนมาก เพราะระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เรือและแพพัง ชำรุดเสียหาย ชาวบ้านต้องเร่งซ่อมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด 

นายไกรวรรณ  จันทะมอญ  ชาวประมงเชียงคาน  เล่าว่า น้ำโขงลดลงเร็วมาก ตื่นเช้ามา เรือค้างอยู่บนฝั่งแล้ว เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็น ลักษณาเช่นนี้มีผลกระทบต่อการหาปลาแน่นอน  คงยากลำบากขึ้น ปลาบางชนิดอาจสูญพันธุ์ เพราะน้ำขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติ  หลังจากนี้อยากให้ทางราชการแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนหลายวัน ชาวบ้านจะได้เตรียมตัวทัน  แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นมีการแจ้งเตือน

นอกจากนี้ ผลกระทบจากน้ำโขงลดลง  ทำให้เรือบรรทุกสินค้าของ สปป.ลาว ไม่สามารถออกแล่นเรือได้ เพราะมีเกาะแก่ง สันดอนทรายเป็นอุปสรรค


 
อย่างไรก็ตาม น้ำโขงที่แห้งลงขณะนี้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งยืนยันว่า จับปลาได้มากขึ้น  อยากให้น้ำแห้งเช่นนี้ตลอดไป มีความเชื่อว่าปลาและคนจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ ช่วงแรกๆ อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่นานไปก็คงชิน

ด้าน ดร.วัลลภ ทาทอง   ประธานคณะกรรมการหลักสูตรสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย  กล่าวว่า  เมื่อปี 2560 มหาวิทยาราชภัฏเลยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ ดินตะกอน  และตัวอย่างพืชผักในแม่น้ำโขง 8 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ อ.เชียงคาน จังหวัดเลยไปถึง อ.โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นไปตามที่ได้ศึกษาไว้ ก็คือ ระดับน้ำจะขึ้นลงอย่างผันผวน น้ำท่วมในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนน้ำแห้ง ซึ่งในปีนี้ นอกจากสาเหตุจากเขื่อนกลางแม่น้ำโขงแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากปีนี้มีฝนตกน้อยมาก ตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ลงมา ลำน้ำสาขาไม่มีน้ำไหลเข้ามาเติม  เขื่อนจึงจำเป็นต้องกักน้ำไว้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และใช้ในการเกษตร  ทำให้ลุ่มน้ำโขงท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบ น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ช่วงแรกชาวบ้านอาจหาปลาได้ง่ายและจำนวนมาก แต่ในระยะยาวจะมีผลต่อการเจริญเติบโต การวางไข่ หรือวงจรชีวิตของสัตว์น้ำเปลี่ยนไป ทำให้จำนวนลดลง

ดร.วัลลภ ทาทอง   
ดร.วัลลภกล่าวอีกว่า  นอกจากนี้เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ตลิ่งริมแม่น้ำที่อยู่ในสภาพแห้งมานาน ซึ่งตามธรรมชาติแล้วช่วงนี้เป็นฤดูฝน ดินจะมีความชุ่มชื้นตอลดเวลา  อนุภาคของดินก็จะเกาะตัวกันแน่น  แต่ขณะนี้ดินทรายแห้งตลิ่งแห้งมานาน  หากมีน้ำหลาก น้ำก็จะเข้าไปแทรกดินที่อนุภาคหลวมมาก  ดินพร้อมที่จะพังทลายได้ทุกเมื่อ  จึงถือเป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานราชการ หรือชุมชนท้องถิ่น ต้องตระหนักและเตือนภัยให้แก่ประชาชนที่อาศัยตามลุ่มแม่น้ำโขงเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้ให้ได้  ดร.วัลลภ กล่าว

หลังจากนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป เพียงแค่การทดลองปิดประตูเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังส่งผลกระทบอย่างชัดเจนแล้ว  ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขงทั้งประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา  รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ต้องตระหนัก ทบทวนบทเรียน ความคุ้มค่า ผลกระทบที่ขึ้นในครั้งนี้อย่างรอบคอบด้วย.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น