วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สาวโพสต์ขอรับบริจาคช่วยเพื่อนคลอดลูกแฝดดับสลด ด้านหมอชี้แจงช่วยเต็มที่ เผยเคสนี้หนักสุด

 


เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563  ผู้ใช้เฟซบุ๊คนามว่า อ๊อบ นีรนันท์  ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพลงในกลุ่มฮั่นแน้วเมืองเลย  ขอความช่วยเหลือครอบครัวของนางสุพัฒน์  จัวฮอม  อายุ 35 ปี  เพื่อนที่เสียชีวิตขณะคลอดลูกแฝดที่โรงพยาบาลเลย

เจ้าของเฟซบุ๊ครายดังกล่าวระบุว่า  นางสุพัฒน์ เป็นชาวบ้านโพน  ต.นาซ่าว  อ.เชียงคาน จ.เลย  ตั้งท้องลูกแฝด  โดยอาศัยอยู่บ้านกับแม่ที่ป่วยโรคเรื้อรัง ส่วนสามีทำงานอยู่โรงงานตะเกียบในอำเภอเชียงคาน และลูกสาววัย 9 ขวบ 1 คน  โดยนางสุพัฒน์มีกำหนดคลอดลูกวันที่ 10 ธันวาคม 2563  แต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เริ่มมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย บวมทั้งตัว จึงไปฝากครรภ์ไว้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัด  ซึ่งหมอบอกว่านางสุพัฒน์ติดเชื้อ จึงให้ยาฆ่าเชื้อมารับประทาน 


จนกระทั่งผ่านไป 2-3 วัน ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 นางสุพัฒน์มีเลือดออกทางช่องคลอด จึงเดินทางไปที่หาหมอที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ไว้  ซึ่งหมอให้นอนรอดูอาการและรักษา โดยเริ่มมีอาการความดันโลหิตสูง หมอจึงได้ให้ยาชะลอคลอดไว้ก่อน  แต่ก็ยังปวดท้องอย่างรุนแรงต่อเนื่อง

จนกระทั่งเวลาประมาณ 04.00 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563  มีน้ำคร่ำแตกไหลออกมา แต่หมอก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ บอกเหตุผลกับญาติว่าช่องคลอดเปิดแค่ 2 เซนติเมตร  นางสุพัฒน์ก็มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงตลอดเวลา ดินทุรนทุราย ขอความช่วยเหลือจากแพทย์และพยาบาล แต่ไม่มีใครมาดูแล กลับพูดจาห้ามปรามว่า “ให้อดทน อย่าสร้างความรำคาญให้คนอื่น ถึงเวลาก็จะคลอดออกมาเอง เคยมีลูกแล้วก็น่าจะรู้”

ต่อมา เวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563  นางสุพัฒน์ได้ถูกนำตัวส่งไปที่โรงพยาบาลเลย  เพื่อผ่าคลอดเอาเด็กแฝดออกมา   เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว หัวเด็กโผล่ออกมา 1 คน จึงไม่สามารถผ่าได้ ต้องให้คลอดแบบธรรมชาติ  ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ หลังคลอดลูก นางสุพัฒน์ได้หมดสติและเสียชีวิตลง น่าสะเทือนใจเป็นอย่างมาก หน้าลูกทั้งสองคนก็ยังไม่ได้เห็น ส่วนลูกทั้งสองคนหลังคลอด 1 คนไหปลาร้าหัก ส่วนอีก 1 คน ต้องช่วยเหลือในห้องวิกฤต  เด็กทั้งสองคนมีน้ำหนัก 2,400 กรัม





ผู้ใช้เฟซบุ๊คนามว่า อ๊อบ นีรนันท์  เล่าต่อไปว่า ตอนนี้ ศพของนางสุพัฒน์ได้ประกอบพิธีฌาปกิจแล้ว  แต่ลูกสาวแฝดทั้งสองคน ยังอยู่ในโรงพยาบาลเลย อยากถามสังคมว่าสิ่งที่โรงพยาบาลต่อคนไข้ที่ท้องลูกแฝดถูกต้องหรือไม่  เด็กที่เกิดมาไม่มีแม่ ทางโรงพยาบาลจะรับผิดชอบเช่นใด 

“อยากให้ชีวิตของน็อต (นางสุพัฒน์)เป็นอุทาหรณ์ต่อใครอีกหลายคน ขอให้น็อตเป็นศพสุดท้าย ใครมีแนวทางช่วยแนะนำด้วย  หากมีจิตศรัทธาบริจาคให้ความช่วยเหลือต่อต่อมาได้นะคะ  ยินดีเป็นสะพานบุญต่อต่อคุณแม่และสามีของน็อตให้คะ”  อ๊อบ นีรนันท์  เพื่อนของผู้ตายระบุ

ด้านแพทย์หญิงระพีพรรณ  จันทร์อ้วน  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงคาน ชี้แจงกับเลยไทม์ออนไลน์ว่า  กรณีผู้ป่วยรายนี้ ขณะที่แอดมิดในโรงพยาบาลเชียงคาน  แพทย์และพยาบาลได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์เจ้าของไข้ ได้โทรศัพท์พูดคุยปรึกษาแนวทางการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่โรงพยาบาลเลยตลอดทั้งคืน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงคานก่อน เพราะว่ามดลูกยังไม่เปิด ไม่ได้ให้การรักษาโดยพละการ  ซึ่งหญิงตั้งครรภ์แฝดมีภาวะเสียเลือดมากอยู่แล้ว เมื่ออาการไม่ดีขึ้น ในช่วงเช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563  ก็ได้รีบนำส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเลย  ส่วนการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจ เยียวยาจิตใจ และเตรียมให้การช่วยเหลือเป็นเงินค่าชดเชยตามระเบียบทางราชการแล้ว  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงคาน

 

พญ.ระพีพรรณ  จันทร์อ้วน

นางฉัตรพร  หัตถกรรม  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลยฝ่ายการพยาบาล  เปิดเผยว่า  กรณีคนไข้รายนี้  มีกำหนดคลอดวันที่ 10 ธันวาคม 2563  แพทย์จึงลงความเห็นว่า ยังไม่ควรให้คลอด ต้องให้เด็กอยู่ในท้องแม่ให้นานที่สุด เพราะยังไม่แข็งแรงพอ โดยเฉพาะปอด  แต่เมื่อคนไข้มีอาการค่อนข้างน่าเป็นห่วง แพทย์จึงให้มารักษาที่โรงพยาบาลเลย  เมื่อมาถึงแล้วก็พบว่า ช่องคลอดเปิด 10 เซนติเมตร จำเป็นต้องทำคลอดทันที และเมื่อคลอดเสร็จแล้ว มดลูกไม่ยอมหดตัว เลือดยังไหลไม่หยุด แพทย์จึงทำการตัดมดลูก

ยืนยันว่า เคสนี้แพทย์และพยาบาลพยามให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่  แพทย์เจ้าของไข้บอกเป็นเคสที่รุนแรงที่สุด หลังจากคนไข้เสียชีวิต ทุกคนอยู่ในอาการเศร้าสลด ต่างร้องไห้ ยิ่งได้เห็นลูกสาววัยเก้าขวบที่เข้ามากราบเท้าแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้รู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก  ทุกคนได้บริจาคเงินให้น้องรวมกว่า 10,000 บาท   นอกจากนี้ งานสังคมสงเคราะห์ของทางโรงพยาบาลเลยได้เข้าไปพูดคุยกับแม่และสามีของนางสุพัฒน์ พร้อมให้นมเลี้ยงลูกแฝดไปจนหย่านม และจะให้การช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบของทางราชการต่อไปด้วย

ส่วนอาการของเด็กทั้งสองคนขณะนี้พ้นขีดอันตรายแล้ว จะสามารถกลับบ้านได้ 1 คนก่อน ส่วนอีก 1 คน ต้องคอยดูแลรักษาอาการบาดเจ็บไหปลาร้าหักให้หายดีเสียก่อน   ซึ่งทางแม่และสามีของผู้ตายไม่ได้ติดใจเอาความกับทางแพทย์และพยาบาล  ต่างก็เข้าใจถึงการทำหน้าที่เป็นอย่างดี เพราะเห็นเหตุการณ์ด้วยตลอดเวลาของการรักษา  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลยฝ่ายการพยาบาล  กล่าว.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น